เราทุกคนล้วนใช้ชีวิตและทำงานในสภาพแวดล้อมดิจิทัล ผลิตภัณฑ์ บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกล้วนได้รับการขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถจากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทลายอุปสรรคและสิ่งกีดขวางซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นได้ในคุณสมบัติข้อหนึ่งที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร นั่นคือ ทุกคนต้องการอาหารและต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมอาหาร
เช่นเดียวกับเรื่องของมาตรฐาน การสร้างมาตรฐานได้รับการพัฒนามานานกว่า 100 ปีแล้ว (โดยที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ตระหนัก) โดยเป็นส่วนพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก มาตรฐานต่างๆ มักพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้มีบทบาทสำคัญในตลาดต่างๆ (รวมถึงผู้บริโภคปลายทาง) ซึ่งดำเนินงานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
การปรับเปลี่ยนระบบการจัดหาอาหารให้เป็นแบบดิจิทัล
สภาพแวดล้อมดิจิทัลกำลังปฏิรูปกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตและการแจกจ่ายอาหาร จากเครื่องจักรในฟาร์มที่นำทางโดยดาวเทียม สู่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังลดต้นทุน ปรับปรุงความน่าเชื่อถือ และเปิดสู่ดินแดนใหม่ๆ แนวโน้มนี้ที่บางครั้งเรียกว่า "อุตสาหกรรมยุค 4.0" มีข้อจำกัดสองสามประการในการนำมาปรับใช้จริง แต่มาตรฐานนี้สำคัญมากในการรับรองถึงความเข้ากันได้ การบูรณาการเข้าด้วยกัน และการทำความเข้าใจและความคาดหวังที่มีร่วมกันอย่างกว้างขวาง
ด้วยการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2 พันล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า รวมทั้งความคาดหวังว่าจะมีชุมชนที่ยากไร้เพิ่มขึ้น การผลิตอาหารที่ยั่งยืนและไว้วางใจได้ (และระบบจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ) จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลาดังกล่าว สิ่งนี้ย่อมต้องการนวัตกรรม จินตนาการ และการลงทุน มาตรฐานต่างๆ มีวิวัฒนาการเพื่อสะท้อนถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีและการพัฒนาตลาด และถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ การบูรณาการระบบการสร้างมาตรฐานที่ปรับเปลี่ยนได้และมีความยืดหยุ่นเข้าสู่เส้นทางจากแนวความคิดไปจนถึงชั้นวางสินค้าในร้านค้าปลีก คือแนวทางที่น่าสนใจ รวดเร็ว และคุ้มค่าเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ ส่งเสริมการสนับสนุนทางการเงิน และได้รับการยอมรับจากตลาด
มีความเคลื่อนไหวในมาตรฐานต่างๆ ทั่วทั้งภาคส่วนทั้งหมดเพื่อมุ่งสู่โซลูชันดิจิทัล หรือบางครั้งเรียกว่า SMART - Semantic (มีความหมาย), Machine Applicable (การใช้เครื่องจักร), Readable (สามารถอ่านได้) และ Transferrable (สามารถถ่ายโอนได้) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้ใช้เทคโนโลยีผสมผสาน จากอุปกรณ์ "อะนาล็อก" สู่อุปกรณ์ไฮเทค "อัจฉริยะ" ทั่วทั้งโรงงานการตลาด และห่วงโซ่อุปทานขั้นต้นและขั้นปลาย ดังนั้น การสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกัน (Interoperability) จึงมีความสำคัญมาก เพื่อรับรองถึงการผลิตอย่างราบรื่น และทำให้สามารถประหยัดทรัพยากรและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสองข้อนี้ และจัดการปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับความน่าไว้วางใจของข้อมูล มาตรฐานต่างๆ (ในทุกรูปแบบ รวมทั้งแบบดิจิทัล) จึงสามารถจัดหาโซลูชันให้แก่อุตสาหกรรมอาหาร
ตัวอย่างเช่น ความโปร่งใสของข้อมูลจะนำมาซึ่งประโยชน์ที่สำคัญเกี่ยวกับแหล่งที่มา แต่มักมีการตั้งคำถามว่าใครเป็นคนป้อนข้อมูล ใครควบคุมข้อมูล และข้อมูลได้รับการจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยอย่างไร เพื่อป้องกันผู้ที่ประสงค์ร้ายหรือต้องการจะทำลายเรื่องความปลอดภัย เราสามารถค้นหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ได้จากการพัฒนามาตรฐานให้สามารถกำกับดูแลข้อมูลอย่างเข้มงวด ด้วยมาตรฐานต่างๆ ที่เขียนขึ้นในอนาคตเพื่อนำพารามิเตอร์ที่เฉพาะเจาะจงมาใช้ร่วมกันสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งมาตรฐานที่จะรับรองคุณภาพของข้อมูล
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำเป็นจะต้องสามารถไว้วางใจในห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น คุณภาพของข้อมูลที่ใช้คือประเด็นที่สำคัญที่ต้องมีการพูดคุยหารือกันในกลุ่มนักพัฒนามาตรฐาน ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการมาตรฐาน ISO ว่าด้วยข้อมูลทางอุตสาหกรรม (ISO/TC 184/SC 4) กำลังพิจารณาเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูลในการสร้างมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐาน ISO 8000 ว่าด้วยคุณภาพของข้อมูล ที่สำคัญ ถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นกับข้อมูล ความล้มเหลวทั้งหมดจะเป็นเรื่องสำคัญ เช่น กรณีของยานโคจร Mars Climate Orbiter ที่มีการตีความของค่าในไฟล์ดิจิทัลไฟล์เดียวผิดพลาด แต่ส่งผลให้ยานอวกาศนี้ไม่สามารถอยู่รอดในบรรยากาศของดาวอังคาร หรืออาจเป็นเรื่องธรรมดาสามัญอย่างเช่น เรื่องเกี่ยวกับลูกวัว Buttercup ที่เกิดในเดือนมีนาคม ปี 2019 (ซึ่งได้รับวัคซีนและอาหารที่จำเป็น) และได้ถูกฆ่าเป็นอาหารในเดือนพฤศจิกายน ปี 2019 บันทึกชีวิตทั้งหมดของวัวตัวนี้ยังคงได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยและจัดเก็บไว้ในบล็อกเชน แต่ที่จริงแล้ว Buttercup ไม่ใช่วัวแต่เป็นหมู โดยมีการป้อนข้อมูลผิดพลาด (ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจหรือมีเจตนาก็ไม่ทราบได้) ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจในข้อมูล และแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับยานอวกาศที่ถูกทำลาย แต่ถ้าข้อมูลห่วงโซ่อุปทานอาหารมีข้อผิดพลาด ก็ยากที่จะเกิดการปฏิบัติงานร่วมกันและการรับรองของลูกค้าได้
มาตรฐานสำหรับอาหาร
มาตรฐานต่างๆ บางส่วนที่กำลังดำเนินการสำหรับภาคธุรกิจอาหาร คือเครื่องมือที่คุณจะต้องสร้างความคุ้นเคย เช่น มาตรฐาน PAS 7000 สำหรับการจัดการความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถกำหนดรูปแบบข้อมูลของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อที่ซัพพลายเออร์จะสามารถแสดงข้อมูลประจำตัวของพวกเขาได้อย่างต่อเนื่อง มาตรฐานนี้สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบดิจิทัลในอนาคตเพื่อนำมาใช้ภายในระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและระบบใหม่ๆ อีกมาตรฐานหนึ่งที่น่าสนใจในแง่เนื้อหา นั่นก็คือ มาตรฐาน PAS 96 ซึ่งจัดการปัญหาในการปกป้องอาหารและเครื่องดื่มไม่ให้ถูกโจมตี ในด้านความปลอดภัยทางอาหาร อาจมีการนำมาตรฐานระบบจัดการที่สำคัญอื่นๆ มาใช้ เช่น มาตรฐาน ISO 14001 การจัดการสิ่งแวดล้อม และมาตรฐาน ISO 50001 การจัดการพลังงาน (เพื่อช่วยให้สถานประกอบการต่างๆ สามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 และลดต้นทุนด้วยการปรับปรุงการปฏิบัติงาน) มาตรฐานของระบบการจัดการเหล่านี้ล้วนให้เค้าโครงที่ดีเยี่ยมสำหรับธุรกิจในการทำการค้ากับพันธมิตรทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิผล ขณะเดียวกันก็สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบดิจิทัล โดยมาตรฐานเหล่านี้อาจได้รับการนำเสนอให้องค์กรต่างๆ โดยการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรมากยิ่งขึ้นในอนาคต ด้วยเครื่องมือการสำรวจ การตีความ และการปรับเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้เหมาะสมสำหรับสภาพแวดล้อมดิจิทัล เพราะมีขึ้นเพื่อช่วยลดขั้นตอนของแนวปฏิบัติและกระบวนการต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว มาตรฐานเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออุตสาหกรรมการบิน อีกตัวอย่างหนึ่งที่คุ้นเคยกันดีคือ มาตรฐาน ISO 9001 ระบบจัดการคุณภาพ ซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก
มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลนี้ ได้พัฒนา ส่งมอบ และนำไปปรับใช้ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อรับรองถึงแนวทางที่มีมาตรฐานสอดคล้องกันและวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด และนำเสนอหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการแบ่งปันความคาดหวังและสร้างความมั่นใจ ในยุคดิจิทัลนี้ มาตรฐานเหล่านี้มีขึ้นเพื่อช่วยให้คุณสามารถสร้างความไว้วางใจให้แก่ทีมงานของคุณ รวมถึงลูกค้าและซัพพลายเออร์ของคุณ แม้ว่ามาตรฐานเหล่านี้ยังไม่ถูกรวมเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล แต่สิ่งนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้า
Sara Walton เป็นหัวหน้าภาคธุรกิจอาหาร (ในส่วนของมาตรฐาน) ของ BSI องค์กรพัฒนามาตรฐานสากลและคณะกรรมการมาตรฐานแห่งชาติของสหราชอาณาจักร เธอมีประสบการณ์ยาวนานกว่า 10 ปีในการกำหนดมาตรฐาน โดยทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นตัวแทนและคณะกรรมการชั้นนำของสหราชอาณาจักรในด้านความปลอดภัยทางอาหาร คุณภาพ และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การสร้างโซลูชันมาตรฐานที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล อุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน eye on Food Safety®.