เพื่อที่จะเข้าใจถึงความสำคัญของการสำรวจและวิเคราะห์บริบท (Horizon Scanning) ในด้านความปลอดภัยทางอาหาร สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ความหมายและหลักวิธีของการสำรวจและวิเคราะห์บริบท การสำรวจและวิเคราะห์บริบท คือเทคนิคที่ใช้เพื่อมองหาโอกาสและอุปสรรคที่เป็นไปได้ผ่านการตรวจสอบที่เป็นระบบ วิธีการนี้อาศัยการระบุว่าสิ่งใดคงที่ สิ่งใดที่เปลี่ยนแปลง และสิ่งใดที่เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ
กระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหาร และการพัฒนาชนบท (DEFRA) ของสหราชอาณาจักรได้ให้คำจำกัดความของการสำรวจและวิเคราะห์บริบทไว้ดังนี้
“…การตรวจสอบเชิงระบบเกี่ยวกับอุปสรรคและโอกาสที่เป็นไปได้ และแนวโน้มการพัฒนาในอนาคตซึ่งเป็นการต่อยอดจากการคิดและการวางแผนในปัจจุบัน การสำรวจและวิเคราะห์บริบทอาจเป็นการสำรวจประเด็นปัญหาใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง รวมทั้งปัญหาหรือแนวโน้มที่ดำรงอยู่"
ดังนั้น เพื่อที่จะทำการสำรวจและวิเคราะห์บริบท เราจำเป็นจะต้องพิจารณาประสบการณ์ในอดีต แนวโน้มที่ผ่านๆ มา และแนวโน้มในปัจจุบันที่ได้จากการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ก็ตาม เพื่อคาดหมายถึงการพัฒนาที่เป็นไปได้ในอนาคต โดยสรุปก็คือ การสำรวจและวิเคราะห์บริบทคือหลักวิธีในการคาดการณ์อนาคต
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติได้กำหนดวิธีการ 4 แบบของการสำรวจและวิเคราะห์บริบท การนำวิธีการเหล่านี้มาใช้ และประโยชน์และข้อเสียของแต่ละวิธี ดังนี้
- การตรวจคัดกรองเดลต้า (Delta Scan)
การคัดเลือกเอกสารการคาดการณ์ที่สำคัญและการทบทวนจากผู้เชี่ยวชาญในการคาดการณ์ทั่วโลก ข้อมูลเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระผ่านทางอินเทอร์เน็ต และรัฐบาลสหราชอาณาจักรให้การสนับสนุน
โดยทั่วไปแล้ว วิธีนี้มักใช้เป็นแหล่งที่มาของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยขับเคลื่อน แนวโน้ม และความรู้เกี่ยวกับการคาดการณ์โดยทั่วไป หลักวิธีของวิธีการนี้จะรวมข้อมูลป้อนเข้าที่มีการจัดระบบจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์มากกว่า 250 คน
ข้อดี: มีเผยแพร่อย่างอิสระ โดยประกอบด้วยข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องสูงในปริมาณมาก
ข้อเสีย: หลักวิธีในการรวบรวมข้อมูลนั้นไม่ชัดเจนทั้งหมด และไม่ได้ระบุถึงประเด็นที่เฉพาะเจาะจงซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางอาหาร
- การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
วิธีนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร แต่โดยทั่วไปมักรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญผ่านแบบการทำแบบสอบถามหรือการประชุมแบบพบหน้ากัน ในหัวข้อที่เกี่ยวกับปัจจัยขับเคลื่อนที่เป็นไปได้และแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
การนำวิธีนี้มาใช้ที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ การระบุและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ภายในสาขาที่ผู้เชี่ยวชาญระบุ หรือเพื่อชี้ถึงแนวโน้มที่เป็นไปได้และปัจจัยขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการคาดการณ์ในระดับใหญ่
ข้อดี: เป็นแนวทางตามหลักวิธีที่ปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครอบคลุม
ข้อเสีย: ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากหลักวิธี และอาจไม่สามารถใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณได้ มีต้นทุนสูงในการนำมาใช้
- การตรวจคัดกรองด้วยตนเอง (Manual Scanning)
วิธีนี้มีการนำมาใช้มากที่สุดในการสำรวจและวิเคราะห์บริบท ซึ่งรวมถึงการสำรวจบริบทจากหลายๆ แหล่งด้วยวิธีการที่เป็นระบบ และอาจรวมถึงซอฟต์แวร์การทำเหมืองข้อความ (Text-mining Software) หรือไม่ก็ได้ สามารถใช้ในเชิงการสำรวจหรือเน้นที่ประเด็นปัญหา
นำมาปรับใช้เพื่อติดตามและระบุปัจจัยขับเคลื่อนและแนวโน้มโดยทั่วไปหรือแนวโน้มที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับปัญหาใดปัญหาหนึ่ง การติดตามสิ่งเหล่านี้ภายในช่วงเวลาหนึ่งๆ จะให้ภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในอนาคตที่เป็นไปได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบความสมเหตุสมผลผ่านการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ
ข้อดี: ใช้ทรัพยากรต่ำสำหรับการสำรวจบริบทเป็นประจำทุกสัปดาห์
ข้อเสีย: ต้องมีหลักวิธีในการคาดการณ์อื่นๆ เพิ่มเติมหรืออาศัยความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้
เราจะนำสิ่งนี้มาปรับใช้ในเรื่องความปลอดภัยทางอาหารได้อย่างไร
เราสามารถนำวิธีการนี้มาใช้ในการระบุความเสี่ยงและประเด็นปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจของคุณเพื่อกำหนดนโยบายการดำเนินงาน ซึ่งสามารถจัดทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงเหล่านี้ การระบุ การประเมิน และการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาแต่เนิ่นๆ นั้นมีความสำคัญในกระบวนการตัดสินใจด้านความปลอดภัยทางอาหาร และมีศักยภาพที่จะสนับสนุนการวางแผนกลยุทธ์ที่ดีขึ้น การระบุความเสี่ยง และการตระหนักถึงข้อกำหนดล่าสุดด้านความปลอดภัยทางอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การมองการณ์ไกลไปในอนาคต แม้เพียงเล็กน้อย จะสามารถช่วยให้คุณวางแผนลดความเสี่ยงเชิงริเริ่ม เพื่อให้คุณมีกระบวนการและขั้นตอนการจัดการประเด็นปัญหาที่คุณยังไม่เคยมีประสบการณ์ การสำรวจและวิเคราะห์บริบทสามารถส่งมอบผลลัพธ์นี้และช่วยให้องค์กรของคุณอยู่ในระดับแนวหน้าด้านความปลอดภัยทางอาหาร
Chantelle Delport (with acknowledgement to the Food and Agriculture Organization of the United Nations)
BSI Business Development Executive – South Africa