สิ่งที่จำเป็น
อุตสาหกรรมอาหารกำลังอยู่ในความสนใจ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของโลก ได้กลายเป็นความท้าทายที่สำคัญ ขณะที่รูปแบบในแนวเส้นตรงของ "การใช้ทรัพยากร การผลิต การกำจัดทิ้ง" (Take, make and dispose) ได้ล้าสมัยไปแล้ว แม้แต่การพึ่งพาวัสดุที่ผู้ใช้ปลายทางสามารถนำมารีไซเคิลได้ (ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถือว่าเป็นการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม) ปัจจุบันก็มักจะถูกมองว่าเป็นทางเลือกของ "ความเกียจคร้าน"
ปัจจุบันผู้บริโภคมีความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าในอดีต และระมัดระวังในการเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่จะบริโภค ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ธุรกิจอาหารต้องเผชิญแรงกดดันที่จะต้องวางแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมความยั่งยืนลงในห่วงโซ่อุปทานทุกส่วนของตน จากฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork)
การสร้างความยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่การทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการส่งเสริมความน่าสนใจของแบรนด์ในสายตาของลูกค้า หรือแม้กระทั่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย คุณอาจจะตระหนักถึงโอกาสและความท้าทาย เพราะการสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนและมีการหมุนเวียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ความยั่งยืนที่แท้จริงไม่ได้เป็นแบบเส้นตรง แต่มีการหมุนเวียนโดยสามารถฟื้นฟูทรัพยากรให้มีคุณภาพสูงสุดมากเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และเก็บรักษาไว้ให้นานที่สุด วิธีจัดการทรัพยากรในลักษณะนี้เรียกกันว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกเรื่อง ตั้งแต่การแปรรูปอาหารไปจนถึงการบรรจุหีบห่อ หากทำอย่างถูกต้อง จะช่วยลดขยะ และเพิ่มความมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงช่วยเพิ่มคุณค่าให้ธุรกิจของคุณและทำให้ผลิตภัณฑ์มีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของธุรกิจ โดยการแสดงให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกค้าให้คุณค่า
แน่นอนว่าการดำเนินการนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คุ้มค่าต่อความพยายาม
ถ้าอย่างนั้น บริษัทอาหารจะสามารถส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไร
หากคุณกำลังมองหาชุดคำแนะนำที่เป็น "วิธีทำ" ที่ชัดเจนเพื่อช่วยให้สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น ข่าวดีก็คือมีคำแนะนำดังกล่าวแล้ว มาตรฐาน BS 8001 ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คือมาตรฐานในการปรับปรุงธุรกิจที่จะช่วยให้บริษัทในภาคธุรกิจอาหารสามารถเริ่มต้นบนเส้นทางนี้ โดยมีคำแนะนำอย่างละเอียดเกี่ยวกับวิธีการนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาผสานเข้าไว้ในการดำเนินงานขององค์กร
คำแนะนำดังกล่าวอธิบายหลักการ 6 ข้อของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและให้แนวทางเกี่ยวกับวิธีการทำให้หลักการแต่ละข้อเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัท
Source: BS 8001 publication.
มาตรฐาน BS 8001 ยังมุ่งสู่ระบบจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (EMS) ของมาตรฐาน ISO อันที่จริง ถ้าองค์กรของคุณได้นำมาตรฐาน ISO 14001 EMS ที่แข็งแกร่งมาปรับใช้ งานที่ท้าทายยิ่งขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับการมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อาจดำเนินการได้สำเร็จเมื่อคุณพิจารณาถึงวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการในข้อ 6.1.2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
มาตรฐาน ISO 50001 ระบบการจัดการพลังงานเป็นมาตรฐานสากลอีกรายการหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารสามารถวางรากฐานเพื่อก้าวขึ้นเป็นธุรกิจหมุนเวียนมากขึ้น หรือปรับปรุงผลประกอบการของบริษัท ไม่ว่าองค์กรของคุณจะอยู่ตรงจุดไหนในเส้นทางจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (Farm to Fork) คุณอาจจะตระหนักว่าคุณใช้เชื้อเพลิงมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่เพื่อทำให้งานสำเร็จ ไม่เพียงแค่มาตรฐาน ISO 50001 จะช่วยให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับหลักการต่าง ๆ เช่น นวัตกรรม และความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้องค์กรของคุณสามารถรักษาต้นทุนด้านพลังงานให้คงที่ได้ด้วย ทั้งนี้ ในระยะยาว องค์กรหลายแห่งพบว่าพวกเขาสามารถประหยัดต้นทุนที่จะส่งต่อไปยังลูกค้าหรือผู้ถือหุ้น
อนาคตคือการดำเนินการในลักษณะหมุนเวียน ซึ่งแม้ว่าจะมีความท้าทาย แต่ก็มีประโยชน์มากมายในการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
- ชื่อเสียงของแบรนด์ที่ดีขึ้นโดยผ่านการยอมรับคุณค่าของลูกค้า
- ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- ลดการใช้วัตถุดิบและพลังงานลงซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุน
- การพัฒนาทรัพยากรใหม่ ๆ / นวัตกรรมที่เป็นไปได้
- การลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนทรัพยากรที่ผันผวน
และนั่นคืออาหารสมองอย่างแท้จริง